บทความที่ได้รับความนิยม

Custom Search

Translate

วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ลัวะหายไปไหน

ลัวะหายไปไหน?
ชนพื้นเมืองดั่งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานในดินแดนล้านนาและบริเวณเหนือขึ้นไปมาช้านานแล้วคือ ชาวลัวะ มีตำนานเรื่องเล่าและหลักฐานหลายอย่างที่บอกว่ามีชาวลัวะอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ เช่น ตำนานเจ้าหลวงคำแดง ที่กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นมาของผู้นำชาวลัวะแถบดอยหลวงเชียงดาว ตำนานอินทขิล กล่าวถึงการสร้างบ้านแปงเมืองของพวกลัวะบริเวณตีนดอยสุเทพ หรือแม้แต่ในตำนานมูลศาสนาที่กล่าวถึงพวกลัวะก่อนมีอาณาจักรหริภุญชัย

โดยกล่าวถึงนายพรานพื้นเมืองชาวลัวะที่ได้ถวายผลสมอให้พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จมายังสถานที่ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพระธาตุหริภุญชัย หรือตำนานปู่เจ้าลาวจกที่อยู่บนดอยตุง อันเป็นต้นตระกูลของพญามังรายก็มีเรื่องราวของชาวลัวะเช่นกัน
เรื่องราวของชาวลัวะ หรือ ละว้า หรือ เม็งคบุตร ถูกนำมาเล่าเป็นนิทานปรัมปราผสมเรื่องราวปาฏิหารของคาถาอาคม พวกลัวะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำ ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง แต่มีภาษาพูด ยังไม่นับถือศาสนาแต่จะนับถือผีโดยมีความเชื่อว่าพวกตนเกิดมาจากรอยเท้าสัตว์ เป็นสังคมชนเผ่าคือมีหลายชุมชน หลายหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์ในทางเชื้อสายเดียวกันใช้ภาษาเดียวกันมีหัวหน้าเผ่าปกครอง ยังไม่ได้พัฒนาเป็นชุมชนเมือง แต่ก็มีการแบ่งออกเป็นหลายหมู่เหล่า แต่ละหมู่จะมีแรด ช้าง วัว เนื้อ เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มตนเอง ดังในตำนานได้กล่าวว่า คนที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์ หรือรอยเท้าแรด หรือรอยเท้าวัว เป็นต้น

ตำนานมูลศาสนา ได้วิเคราะห์ถึงความเสื่อมที่เกิดขึ้นในสังคมชาวลัวะแถบเชิงดอยสุเทพ เกิดขึ้นเมื่อผู้ปกครองชาวลัวะไม่ยึดถือหลักธรรมในการปกครอง เมื่อมีหนุ่มชาวลัวะประพฤติตัวเป็นอันธพาล ชอบทุบตีแม่ของตนเป็นประจำ นางผู้เป็นแม่เอาความไปฟ้องร้องทาวพญาชาวลัวะผู้เป็นใหญ่ให้ตัดสินความ แต่ท้าวพญาผู้เป็นใหญ่ได้ตัดสินว่าการกระทำของลูกไม่ผิดโดยให้เหตุผลว่า หากลูกระฆังหรือลูกกระดิ่งไม่ตีแม่แล้วจะเกิดเสียงดังได้อย่างไร

ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเหตุทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในสังคมชาวลัวะแถบเชิงดอยสุเทพ จนทำให้วาสุเทพฤาษีที่เคยบวชเรียนในพุทธศาสนามาก่อนแล้วมาปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่กับชาวลัวะ จนเสมือนเป็นปัญญาชนคนหนึ่งในสังคมลัวะ ได้ชักชวนชาวลัวะกลุ่มหนึ่งล่องแม่น้ำพิงค์มาทางใต้แล้วมาสร้างเมืองหริภุญชัยในเวลาต่อมา

หัวหน้าเผ่าชาวลัวะที่มีชื่อเสียงโด่งดังในตำนานเมืองลำพูน (ตำนานจามเทวีวงศ์) คือ ขุนหลวงวิลังคะ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “ขุนหลวงมะลังกะ” เป็นหัวหน้าเผ่าในยุคที่พระนางจามเทวีเพิ่งจะเสด็จมาจากละโว้ ขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญชัยตามคำเชิญของวาสุเทพฤาษี

ขุนหลวงมะลังกะได้ยินกิตติศัพท์พระศิริโฉมของพระนางจามเทวีว่างดงามยิ่งนัก จึงมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ใหลหลง ส่งทูตมาสู่ขอพระนาง แต่พระนางจามเทวีก็ใช้ปัญญาออกอุบายบ่ายเบี่ยงมาตลอด เช่น พระนางบอกว่าถ้าหากขุนหลวงมะลังกะพุ่งหอกมาปักกลางเมืองหริภุญชัยได้ ก็จะยอมตกลงแต่งงานด้วย
ด้วยเหตุที่ขุนหลวงมะลังกะเป็นผู้มีคาถาอาคม จึงได้ขึ้นไปบนดอยสุเทพร่ายเวทย์มนต์ตราคาถาอาคม แล้วพุ่งหอกสะเหน้ามาตกที่หนองน้ำนอกเมืองทิศตะวันตก ต่อมาได้เรียกหนองแห่งนี้ว่า “หนองสะเหน้า”

เมื่อพระนางจามเทวีรู้ว่าขุนหลวงมะลังกะมีอิทธิฤทธิ์ พระนางจึงต้องรีบเอาชายผ้าถุงทำเป็นหมวกและเอาใบพลูที่พระนางทำพิธีข่มอาคมแล้วมาห่อทำหมากคำให้ทูตส่งไปถวายขุนหลวงมะลังกะ และขอให้หลวงมะลังกะพุ่งสะเหน้าอีกครั้ง แต่ครางนี้วิชาอาคมของหลวงมะลังกะได้เสื่อมลงไป สะเหน้าที่พุ่งจึงตกลงที่บริเวณตีนดอยสุเทพ

จนในที่สุดหลายปีต่อมา เมื่อขุนหลวงมะลังกะเห็นว่าคงจะไม่ได้ตัวพระนางจามเทวีน่จึงตัดสินใจยกทัพบุกเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีจึงได้เอาช้างผู้ก่ำงาเขียว ช้างคู่บารมีของพระนางออกมาสู้รบขับไล่ข้าศึกชาวลัวะจนแตกพ่าย และพวกลัวะได้หนีไปในป่าลึกด้านเหนือของดอยสุเทพแถบลุ่มน้ำแม่สา แม่ริม และคาดว่าขุนหลวงมะลังกะ ตรอมใจเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ดอยคว่ำหล้อง

ปัจจุบันชาวบ้านบ้านเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม ยังจัดพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณของขุนหลวงมะลังกะทุกปี และมีการบูชามะลังกะในพิธีแฮกนาของชาวนาในแถบลุ่มน้ำแม่ฮาว (ต้นน้ำสาขาแม่ริม)
ร่องรอยของชาวลัวะในจังหวัดลำพูน ยังปรากฏหลักฐานที่บ้านแม่เทย ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ ซึ่งปรากฏในประวัติของครูบาขาวปี ที่กล่าวว่าแม่ของครูบาขาวปีเป็นคนลัวะ ในขณะที่ครูบาเกิดชุมชนชาวลัวะแม่เทยมีประมาณ 6 – 7 ครอบครัว และยังปรากฏหลักฐานวัดของชาวลัวะที่ตำบลก้อในเขตอำเภอลี้หลายแห่ง เช่น วัดแอ้ว ตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง หรือวัดทากู่ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา ก็เคยเป็นชุมชนลัวะมาก่อน

พอถึง พ.ศ.นี้ คนไต คนยอง คนยาง จะมีใครยอมรับว่าตนเองมีสายเลือดลัวะผสมอยู่ เพราะบางคนเห็นว่าการถูกเรียกว่าเป็น “ชาวลัวะ” ถือเป็นการดูถูก (และไม่อยากยอมรับ) แต่หากบอกว่า พวกที่เคยนับถือ “ผีปู่ย่า – ผีเหมืองผีฝาย – ผีไฮ่ผีนา – ผีหอผีเฮือน” ล้วนเป็นมรดกความเชื่อของชาวลัวะมาก่อน ก็ขอให้ทำใจและรับรู้ว่าเกือบทุกคนที่มีบรรพบุรุษเกิดมาในดินแดนล้านนานี้ย่อมมีสายเลือดลัวะผสมอยู่.....
บทความโดย กำธร ธิฉลาด : สถาบันวิจัยหริภุญชัยลำพูน

รายการบล็อกของฉัน