บทความที่ได้รับความนิยม

Custom Search

Translate

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

นักปรัชญาอิสลาม(al-Kindi “Alkindus”)



 นักปรัชญาอิสลามอัล-คินดี
(al-Kindi “Alkindus”)ค.ศ.800 – 873
อบู ยูซุฟ ยากุ๊บ อิบนฺ อิสฮาก อัล-คินดี
(Abu Yusuf Ya’qub Ibn Ishaq al-Kindi) หรือที่ชาวตะวันตกเรียกเป็นภาษาละตินว่า อัลคินดุซ (Alkindus) เป็นนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ หมอ นักภูมิศาสตร์ และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีอีกด้วย น่าทึ่งที่เขาสร้างผลงานยุคเริ่มแรกของศาสตร์เหล่านี้ไว้ทั้งหมด ในช่วงชีวิตของอัล-คินดี เขาถูกยกย่องให้เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเนื่องจากเขามีเชื้อสายอาหรับแท้ดังนั้น
โลกอาหรับจึงเรียกเขาว่า “นักปรัชญาอาหรับ” (“the Arab philosopher”)
อัล-คินดี เกิดที่ คูฟา (Kufa) ราวปีค.ศ.800 พ่อของเขาเป็นเจ้าเมืองคูฟา สืบทอดตำแหน่งจากปู่ของเขา ตระกูลของอัล-คินดีมาจากเผ่า คินดา (Kinda) ซึ่งอพยพมาจากเยเมน อัล-คินดีได้รับการศึกษาเริ่มต้นที่ คูฟา ต่อมาที่ บาสรา (Basra ตอนใต้ของอิรักในปัจจุบัน) และถัดมาที่ แบกแดด ความปราดเปรื่องของอัล-คินดีเริ่มเป็นที่เลื่องลือ กาหลิบ อัล-มะมูน (al-Mamun) จึงแต่งตั้งเขาให้อยู่ใน สภาแห่งปัญญา (House of Wisdom) ที่แบกแดด เป็นนักวิจัยและนักแปล
เพราะอัล-คินดีรู้หลายภาษา รวมทั้งภาษากรีก สภาแห่งปัญญาเป็นสถาบันวิจัยและสถานศึกษาที่ตั้งโดย ฮารูน อัล-ราชิด (Harun al-Rashid) กาหลิบองค์ก่อน ที่นี่อัล-คินดีทำงานร่วมกับ อัล-ควาริศมี (Al-Khwarizmi) ฮานาอีน อิบนฺ อิสฮาก (Hunayn Ibn Ishaq) และพี่น้อง บานู มูซา คือ จัฟฟาร์ มุฮัมหมัด อิบนฺ มูซา อิบนฺ ชากีรฺ (Jafar Muhammad Ibn Musa Ibn Shakir) อาห์เมด อิบนฺ มูซา อิบนฺ ชากีรฺ (Ahmed Ibn Musa Ibn Shakir) และ อัล-ฮัซซัน อิบนฺ มูซา อิบนฺ ชากีรฺ (al-Hasan Ibn Musa Ibn Shakir)

ช่วงราชวงศ์อับบาสิดสภาแห่งปัญญาถือเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาวิทยาการ เป็นแหล่งรวมนักปราชญ์ นักวิชาการเมื่ออัล-มะมูนเสียชีวิต อัล-มุตาซิม (al-Mu’tasim) น้องชายของเขาขึ้นครองอำนาจเป็นกาหลิบแทน

อัล-คินดีมีหน้าที่เพิ่มคือต้องสอนหนังสือลูกชายของกาหลิบ แต่เมื่อถึงสมัยของ อัล-วาตีก (al-Wathiq) และต่อมาคือ อัล-มุตาวักกิล (al-Mutawakkil) ขึ้นครองอำนาจ กาหลิบทั้งสององค์ไม่โปรดอัล-คินดีเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม มุตาวักกิลก็ยังจ้างอัล-คินดีให้เป็นจิตรกรเขียนตัวหนังสือ เพราะอัล-คินดีเขียนหนังสือสวย แต่ในแง่ของปรัชญา มุตาวักกิลไม่ค่อยถูกใจอัล-คินดีเท่าใด จึงสั่งยึดหนังสือในห้องสมุดของอัล-คินดีเสีย ภายหลังจึงค่อยคืนให้ อัล-คินดีเสียชีวิตในปีค.ศ.873 ในรัชสมัยของ อัล-มุตามิด (al-M’utamid)


ในด้านคณิตศาสตร์ อัล-คินดี เขียนหนังสือออกมา 4 เล่มเกี่ยวกับระบบตัวเลข เขาวางรากฐานคณิตศาสตร์สมัยใหม่ แม้ระบบตัวเลขจะถูกพัฒนาโดย อัล-ควาริศมี เป็นส่วนใหญ่ แต่ อัล-คินดี ก็มีส่วนด้วยอย่างมาก ผลงานด้านเรขาคณิตรูปทรงกลมของเขาช่วยเขาอย่างมากในการศึกษาดาราศาสตร์


ในด้านเคมี เขาค้านความคิดที่ว่า สามารถเปลี่ยนโลหะธรรมดาให้เป็นโลหะมีค่าเช่น ทอง หรือ เงิน เขาบอกว่า การทดลองทางเคมีไม่ได้ทำให้โลหะเปลี่ยนไปเป็นโลหะชนิดอื่นได้ ในด้านฟิสิกส์ เขามีผลงานด้าน ทัศนศาสตร์รูปทรงต่างๆ ทางเรขาคณิต (geometrical optics) และได้เขียนหนังสือเรื่องนี้ไว้ด้วย หนังสือของเขาได้กลายเป็นแนวทางและเป็นแรงจูงใจแก่ โรเจอร์ เบคอน (Roger Bacon) นักวิทยาศาสตร์สมัยยุโรปสมัยต่อมา

ด้านการแพทย์ ที่เด่นๆ คือ เขาเป็นคนแรกที่กำหนดปริมาณยา (doses) ที่ให้คนไข้ต่อครั้งอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาที่ถกเถียงกันในหมู่แพทย์ทั้งหลายเมื่อเขียนใบสั่งยา
อัล-คินดีเป็นคนที่ผลิตงานออกมามาก เขาเขียนหนังสือถึง 241 เล่ม ที่เด่นๆ มีดังนี้
- ดาราศาสตร์ 16 เล่ม
- เลขคณิต 11 เล่ม
- เรขาคณิต 32 เล่ม
- การแพทย์ 22 เล่ม
- ฟิสิกส์ 12 เล่ม
- ปรัชญา 22 เล่ม
- ตรรกศาสตร์ 9 เล่ม
- จิตวิทยา 5 เล่ม
- ศิลปะ และ ดนตรี 5 เล่ม

ในโลกยุคกลาง (Middle Ages) งานของอัล-คินดีจำนวนมากถูกแปลออกเป็นภาษาละตินโดย เจอราด แห่ง ครีโมนา (Gherard of Cremona) อาทิเช่น Risalah dar Tanjim, Ikhtiyarat al-Ayyam, Ilahyat-e-Aristu, al-Mosiqa, Mad-o-Jazr, และ Aduiyah Murakkaba.
อัล-คินดีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาในโลกยุคกลางอย่างมาก คาร์ดาโน (Cardano) เรียกอัล-คินดีว่าเป็น 1 ใน 12 ของคนปัญญาเลิศ งานของอัล-คินดีนำไปสู่การพัฒนาด้านฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ การแพทย์ และดนตรี

ในศตวรรษต่อๆ มาโรงพยาบาล อัล-คินดี หนึ่งในศูนย์การแพทย์ใหญ่ที่สุดของแบกแดด ประเทศอิรัก ในปัจจุบัน ถูกตั้งชื่อตามเขา

รายการบล็อกของฉัน