บทความที่ได้รับความนิยม

Custom Search

Translate

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กะโหลกคริสตัล ศูนย์กลางความรู้ลึกลับของชาวเมโสอเมริกา

กะโหลกแก้วมรณะที่แอนนาค้นพบ เมื่อยามต้องแสงไฟดูงดงามอย่างน่าประหลาด แต่จากการตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ปรากฏว่าเป็นของที่เพิ่งทำขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เท่านั้น 
💀กะโหลกคริสตัล ศูนย์กลางความรู้ลึกลับของชาวเมโสอเมริกา (?)  

ตำนานปรัมปราของชาวอเมริกากลางโบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า "กะโหลกแก้วแห่งอารยธรรมแอสเท็กซ์มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 ชิ้น ในช่วงที่ชาวสเปนบุกเข้ามารุกรานนั้นกะโหลกเหล่านี้ได้กระจัดกระจายออกไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก 

โดยที่กะโหลกแก้ว 12 ใน 13 ชิ้นถูกสร้างขึ้นมาจากดาวเคราะห์ดวงอื่น 12 ดวงที่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มาก่อนโลก และเมื่อโลกถือกำเนิดขึ้นมาและยังไร้ซึ่งวิทยาการใดๆ กะโหลกแก้วทั้ง 12 ชิ้นนี้จึงถูกส่งมายังโลกเพื่อถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้อันก้าวล้ำให้กับมนุษย์โลก และกะโหลกแก้วชิ้นที่ 13 ก็ได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาโดยมนุษย์บนโลกของเรานี่เอง 

เมื่อกะโหลกทั้ง 13 ชิ้นได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันเมื่อไร ความลับของจักรวาลและชะตาลิขิตของมนุษยชาติก็จะถูกเปิดเผยออกมา!!”

เชื่อว่าทันทีที่อ่านตำนานนี้จบ หลาย ๆ ท่านก็น่าจะมีคำถามผุดขึ้นมามากมาย เช่นว่า ณ ตอนนี้กะโหลกทั้ง 13 หัวเคยมาพบปะกับญาติๆ ของมันบ้างหรือยัง หรือบางท่านก็อาจจะสงสัยว่าแล้วตำนานนี้มันเชื่อถือได้แค่ไหน ชาวอเมริกากลางโบราณจะเก็บงำความรู้ลึกลับเอาไว้ในกะโหลกที่มาจากต่างดาว
ทั้ง 12 ดวงจริงๆ น่ะหรือ

หนึ่งในข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือจวบจนปัจจุบัน เรายังไม่มีการค้นพบกะโหลกแก้วหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กะโหลกคริสตัล” ครบทั้ง 13 ชิ้นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังไม่มีใครบอกได้ว่าถ้ามีการค้นพบกะโหลกคริสตัลทั้ง 13 ชิ้นตามตำนานแล้วมันจะเกิดปรากฏการณ์พิศวงและการเปิดเผยความลับของจักรวาลจริงหรือไม่ แต่ในปัจจุบันนักโบราณคดีก็ค้นพบกะโหลกคริสตัลของชาวอเมริกาโบราณมาแล้วไม่น้อย ทว่ายังไม่มีทีท่าว่ากะโหลกเหล่านี้จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด

หนึ่งในข้อเท็จจริงที่นักโบราณคดีทราบกันเป็นอย่างดีก็คือทุกวันนี้ถึงเราจะค้นพบกะโหลกแก้วเป็นจำนวนมาก ทั้งเก่าและใหม่ปะปนกันไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันต้องมีกะโหลกแก้ว “ของปลอม” รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ถึงอย่างนั้นกะโหลกที่ดูแล้วมีเสน่ห์ติดตรึงสายตาของผู้พบเห็นได้มากที่สุดก็คือกะโหลกแก้วชิ้นแรกสุดที่ถูกค้นพบในนครของชาวมายาโบราณที่มีชื่อว่า “ลูบานตุน” (Lubaantun) ในประเทศเบลิซ เมื่อปี ค.ศ.1924
เรารู้จักกะโหลกนี้กันในชื่อชวนสยองว่า “กะโหลกแก้วมรณะ”
(Skull of Doom) นั่นเอง

ทว่าเรื่องราวของการค้นพบกะโหลกแก้วชิ้นแรกนี้ก็ฟังดูคลุมเครือและน่าจะมีลับลมคมในเบื้องหลังอยู่ไม่น้อย ผู้ที่ค้นพบไม่ใช่ทีมของนักโบราณคดีชื่อดัง แถมยังไม่มีการทำรายงานการขุดค้นอย่างเป็นทางการออกมาแต่อย่างใด เธอคือแอนนา (Anna) ลูกสาวของนักสำรวจและนักผจญภัยชาวอังกฤษนามว่า เฟรเดริค อัลเบิร์ต มิทเชลล์ เฮดจส์ (Frederick Albert Mitchell Hedges) วันที่แอนนาค้นพบกะโหลกแก้วคือวันเกิดครบรอบ 17 ปีของเธอ ในบันทึกของแอนนากล่าวเอาไว้ว่า ก่อนหน้าวันเกิดของเธอราวหนึ่งสัปดาห์ เธอได้ปีนขึ้นไปบนยอดวิหารสูงแห่งหนึ่งของเมืองลูบานตุน และเมื่อมองลงไปที่พื้นของยอดวิหารก็พบว่ามันมีวัตถุบางอย่างสะท้อนแสงออกมาจากช่องแตกบนพื้นแยงเข้าตาเธอพอดิบพอดี แอนนาจึงได้ไปบอกกับพ่อของเธอว่าเธอค้นพบอะไรบางอย่างที่ควรค่าแก่การเข้ามาขุดค้น หลังจากนั้นเมื่อถึงวันเกิดของเธอ มิทเชลล์ เฮดจส์ก็ได้เข้ามาสำรวจและเคลื่อนย้ายก้อนหินออกไปจนสามารถหย่อนตัวด้วยเชือกลงไป
ในช่องแตกนั้นได้ แน่นอนว่าแอนนาก็ขอติดตามลงไปด้วย 

เมื่อลงมาถึงพื้นด้านล่าง เธอก็พบกับวัตถุที่สะท้อนแสงแยงตาเธอในวันนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาพิจารณาก็พบว่ามันคือกะโหลกมนุษย์ขนาดเท่าศีรษะจริงทำจากคริสตัล น้ำหนักราว 650 กรัม เมื่อสะท้อนแสงก็ดูแวววาวระยิบระยับงดงามมาก แอนนาไม่รอช้ารีบนำกะโหลกแก้วที่เธอค้นพบห่อไว้ด้วยผ้าอย่างดีแล้วเคลื่อนย้ายมันออกไปจากวิหารอย่างทะนุถนอม

แต่ถึงอย่างนั้นก็นับว่าแปลกที่มิทเชลล์ เฮดจส์ไม่พูดถึงการค้นพบกะโหลกแก้วที่นครลูบานตุนเอาไว้ในหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยของเขาเลยแม้แต่น้อย เพราะกว่าที่เขาจะกล่าวถึงกะโหลกนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปี ค.ศ.1954 หรือ 30 ปีหลังจากที่แอนนาอ้างว่าค้นพบแล้ว 

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรื่องราวของกะโหลกแก้วปรากฏมาก่อนหน้าที่แอนนาจะค้นพบกะโหลกมรณะนี้หลายสิบปีแล้ว เพราะที่ตลาดค้าโบราณวัตถุช่วงทศวรรษที่ 1880 ในประเทศเม็กซิโกก็มีการนำเอากะโหลกแก้วมาขายทอดตลาดแล้วด้วยเช่นกัน!! 

ทว่ากะโหลกเหล่านั้นเป็นกะโหลกขนาดเล็กที่มีความสูงเพียงแค่ราวหนึ่งนิ้วถึงหนึ่งนิ้วครึ่งเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วในช่วงทศวรรษที่ 1950 วิทยาการในช่วงนั้นก็ได้ตรวจสอบและพบว่ากะโหลกขนาดเล็กเหล่านี้ “ปลอมล้วนๆ” เดิมทีมันเป็นเพียงแค่ลูกปัดโบราณของชาวเมโสอเมริกา แค่ถูกนำมาเจียระไนและแกะใหม่เพื่อให้เป็นรูปกะโหลกและนำออกไปขายในตลาดค้าวัตถุโบราณก็เท่านั้นเอง

ส่วนกะโหลกคริสตัลขนาดใหญ่ที่ค้นพบและกระจายออกไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆของโลกนั้น เมื่อลองนำกลับมาตรวจสอบใหม่ เช่นในช่วงปี ค.ศ.2005 ก็มีการตรวจสอบกะโหลกคริสตัลที่เก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษและพบว่ามันเป็นของปลอมที่เพิ่งทำขึ้นในประเทศเยอรมนีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19  นี้เอง มิหนำซ้ำกะโหลกคริสตัลที่เก็บรักษาเอาไว้ในสถาบันสมิธโซเนียนของสหรัฐอเมริกาก็ถูกตรวจสอบจนค้นพบหลักฐานของการแกะสลักกะโหลกด้วยเลื่อยไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนว่าชาวเมโสอเมริกาดึกดำบรรพ์ไม่มีเครื่องมือแบบนี้ใช้งานในอดีตอย่างแน่นอน
ล่าสุด เมื่อปี ค.ศ.2013 นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์อังกฤษและสถาบันสมิธโซเนียนได้นำกะโหลกคริสตัลเหล่านี้ไปตรวจสอบด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนก็ได้พบหลักฐานที่หักล้างไม่ได้ออกมาเรียบร้อยแล้วว่าร่องรอยบางอย่างที่ปรากฏในเนื้อคริสตัลของกะโหลกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากฝีมือของเครื่องมือแกะสลักสมัยใหม่เท่านั้น และผลการตรวจสอบก็ออกมาว่ามันถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วยเช่นกัน

เราไม่มีทางทราบว่าเรื่องเล่าของแอนนาที่เกิดขึ้นในวันเกิดของเธอเมื่อปี ค.ศ.1924 เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ข้อมูลที่เรามีพอจะบอกได้ว่า
ผู้ที่ริเริ่มสร้างกะโหลกคริสตัลขนาดเท่าศีรษะจริงขึ้นมาเป็นคนแรกๆคือชาวฝรั่งเศสนามว่าเออแชน โบบอง (Eugene Boban) แต่ด้วยว่าเขาขายกะโหลกเหล่านี้ไม่ออกจึงได้สร้าง
“สตอรี่” ให้กับสินค้าว่ามันเป็นโบราณวัตถุลึกลับจากอารยธรรมแอสเท็กซ์
เพื่อดึงดูดให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ให้ความสนใจ จนสุดท้ายกะโหลกจำนวนมากจึงถูกประมูลออกไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก
สุดท้ายแล้วกะโหลกคริสตัลของแอนนาและมิทเชลล์ เฮดจส์จึงเป็นเพียงแค่คริสตัลอายุไม่กี่ร้อยปีที่แฝงความลับเบื้องหลังเอาไว้มากมายและยังคงได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอจวบจนปัจจุบัน....(จบ)....✎

ที่มา : http://www.gypzyworld.com/article/view/702

ที่มาของภาพ : https://theunredacted.com/mystery-of-the-crystal-skulls-the-stare-of-death/)

รายการบล็อกของฉัน